แผ่นดินไหวรุนแรงสุดในรอบ 84 ปีของตุรกี

วันที่ 7 ก.พ. 2566 เวลา 06:32 น.

เช้านี้ที่หมอชิต - เหตุแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 84 ปีของตุรกี ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่าหนึ่งพันคนและยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากเชื่อว่ายังมีศพจำนวนมากติดอยู่ภายใต้ตึกอาคารที่ถล่มลงมากว่า 2,000 หลัง ซึ่ง ตุรกี เป็นอีกหนึ่งในประเทศที่คนไทยนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวและมีคนไทยอาศัยอยู่จำนวนไม่น้อย ตึกที่พังครืนเมื่อสักครู่ คือหนึ่งในตึกกว่าสองพันหลังที่พังถล่มลงมาหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.8 ในพื้นที่ตอนกลางของตุรกี และทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย โดยมีอาร์ฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายระลอก ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก โดยทางเราได้ติดต่อไปยังนายอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง เอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา เมืองหลวงตุรกี ในช่วงเวลาประมาณ 20.00 น. ที่ผ่านมา ซึ่งจะตรงกับเวลาประมาณ 15.49 ตามเวลาท้องถิ่นของตุรกี เพื่ออัพเดตความคืบหน้าเรื่องนี้ ท่านทูตอภิรัตน์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ณ เวลาที่เรากำลังคุยกันอยู่หรือราวเกือบสี่โมงเย็นตามเวลาท้องถิ่นของตุรกี ตัวเลขผู้เสียชีวิตพุ่งไปถึง 1,014 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5,385 คน ซึ่งนี่เป็นตัวเลขทางการเฉพาะของรัฐบาลตุรกีเท่านั้น ยังไม่รวมถึงพื้นที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวในประเทศอื่นอย่าง ซีเรีย ที่มีพรมแดนติดกัน ทำให้คาดว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้จะสูงกว่านี้อีกมาก ซึ่งเมื่อเราเข้าไปเช็คที่เพจสถานทูต  Royal Thai Embassy, Ankara เมื่อเวลาประมาณ 18.42 น.ตามเวลาท้องถิ่น สื่อท้องถิ่นตุรกีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมเป็น 1,541 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 9,733 คน สำหรับคนไทยในตุรกี ท่านทูต ระบุว่า ทางสถานทูตได้ติดต่อประสานกับหน่วยงานท้องถิ่นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวแล้ว ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ก็จะมีการติดต่อประสานกลับเข้าไปเป็นระยะ เนื่องจากจังหวัดเหล่านี้แม้จะไม่ใช่เมืองที่คนไทยนิยมเดินทางไปหรือมีชุมชนไทยตั้งอยู่แต่ก็มีคนไทยอยู่ที่นั่นเช่นกัน ท่านทูตกล่าวว่า สำหรับเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ มีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัด  (คารามันมาราส) Kahramanmaras ห่างจากกรุงอังการาประมาณ 580 กิโลเมตร และไกลจากนครอิสตัลบูลซึ่งเป็นเมืองใหญ่และคนไทยนิยมไปเที่ยว ในด้านการให้ความช่วยเหลือ ทางการตุรกีได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนท่ามกลางหิมะที่กำลังตกหนัก ซึ่งหิมะที่กำลังตกในช่วงนี้ ถือเป็นโชคร้ายที่ซ้ำเข้ามาเนื่องจากปกติหิมะจะตกในช่วงเดือนพฤศจิกายน ไม่ล่าช้ามาตกในเดือนกุมภาพันธ์อย่างตอนนี้ ทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินการพอสมควร อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดี เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ได้ประกาศจัดตั้งศูนย์อำนวยการพิเศษของศูนย์บรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติขึ้น และได้โทรศัพท์ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งประสบเหตุในครั้งนี้ พร้อมกันนั้นยังได้ให้สัมภาษณ์สื่อว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ นับเป็นเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดในระวัติศาสตร์ตุรกีนับตั้งแต่ปี 1939 หรือตรงกับ พ.ศ.2482 โดยมีการระดมความช่วยเหลือลงไปและได้รับขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศและองค์กรต่าง ๆ แล้ว