ฝุ่นละออง PM2.5 ปกคลุมหนัก แพทย์แนะแนวทางป้องกัน

วันที่ 4 ก.พ. 2566 เวลา 10:16 น.

ฝุ่นละออง PM2.5 ปกคลุมหนัก แพทย์แนะแนวทางป้องกัน ชี้ความน่ากลัว สามารถแทรกผ่านถุงลมกระจายทั่วร่างกายได้ ฝุ่นเริ่มกลับมาหนัก วันนี้(4 ก.พ.2566) นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ที่มีขนาดของอนุภาคเล็กถึง 2.5 ไมครอน หรือขนาด 0.0025 มิลลิเมตร เทียบกับเม็ดทราย มีขนาด 60 ไมครอน ด้วยขนาดที่เล็กมากเมื่ออยู่ในอากาศ จึงหายใจลึกเข้าไปถึงถุงลมขนาดเล็กในปอด จากหลอดลมไปหลอดเลือดและกระจายไปส่วนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ที่น่ากลัวกว่านั้น มันสามารถแทรกผ่านผนังถุงลมเข้าไปในกระแสเลือดรอบถุงลมและกระจายเข้าร่างกายไปอวัยวะต่าง ๆ ได้เลย เมื่อเข้าไปในร่างกายแล้ว จะทำให้เกิดการอักเสบของส่วนต่าง ๆ เช่น ปอด ผนังเส้นเลือด และอวัยวะต่าง ๆ ดังนั้น PM2.5 ก็จะทำให้มีทั้งอาการเฉียบพลัน เช่น แสบตา แสบคอ น้ำมูกไหล ผื่นผิวหนัง เหนื่อย มีเสมหะ ไอ ถ้าหายใจเข้าเป็นเวลานาน จะทำให้มีอาการเหนื่อย หอบ หายใจลำบาก จากโรคปอดและโรคของเส้นเลือดหัวใจ นอกจากนี้ ยังมีรายงานทำให้คนเป็นโรคเบาหวานหรืออาการของเบาหวานแย่ลง มีผลต่อการตั้งครรภ์ และที่ร้ายที่สุดคือเป็นโรคมะเร็ง อนุภาคเหล่านี้มีส่วนประกอบแตกต่างกันตามแหล่งกำเนิด เช่น ถ้าเป็นจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากรถยนต์ส่วนประกอบก็จะเป็นตัวทำละลาย ถ้าเป็นจากการเผาไหม้เช่นการเผาป่า ก็จะเป็นพวก Polyaromatic Hydrocarbon พวกซัลเฟอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีมลพิษทางอากาศอื่น ๆ ปะปนมาร่วมกับ PM2.5 ด้วย ขณะที่ นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผอ.โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ระบุว่า ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ที่มีขนาดของอนุภาคนี้จะเล็กถึง 2.5 ไมครอนจึงสัมผัส ได้ทั้งในอาคารและนอกอาคาร โดยเฉพาะในอาคารที่ไม่มีหน้าต่างหรือประตูที่ปิดมิดชิด และอยู่ในบริเวณที่คุณภาพอากาศไม่ดี หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้ใส่หน้ากากที่กรองฝุ่นขนาดเล็กได้ เช่น หน้ากาก N95 หลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกบ้าน ในบริเวณที่มีค่ามลพิษอากาศสูง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดควรหมั่นทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศก็สามารถช่วยกรอง PM2.5 ได้ ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศในแอปพลิเคชัน Air4Thai หรือข่าวสารตามช่องทางต่าง ๆ การรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอก็ช่วยลดผลต่อสุขภาพจาก PM2.5 พยายามอย่าให้เป็นโรคทางเดินหายใจ เช่น เป็นหวัด หรือสูบบุหรี่ เพราะจะยิ่งซ้ำเติมปอดให้แย่ลง จึงควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี ผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเช่นตำรวจจราจร ควรตรวจสมรรถภาพปอดทุกปี ในขณะที่ตอนนี้ยังจัดการสาเหตุไม่ได้จึงควรปฏิบัติตามที่กล่าวไว้ นอกจากนี้ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ยังจัดทำ clinic มลพิษ online ซึ่งสามารถ add เข้ามาใน  official line โดยคลินิกนี้จะมีแบบเตือนสภาพอากาศ แบบประเมินอาการตนเองและมีแพทย์คอยตอบปัญหาในคลินิกตลอดเวลา