รายงานพิเศษ : กลโกงมิจฉาชีพ เปลี่ยนรูปแบบกลายพันธุ์รายวัน

วันที่ 27 ม.ค. 2566 เวลา 07:13 น.

สนามข่าว 7 สี - ทุกวันนี้กลโกงมิจฉาชีพมาในทุกรูปแบบ แถมยังเปลี่ยนไปทุกวัน บางครั้งก็แนบเนียนจนต้องหลงเชื่อ ชาวบ้านตกเป็นเหยื่อกันทั่วบ้านทั่วเมือง สูญเงินไปถึงหลักแสนหลักล้าน ทีมข่าวเราเองก็เตือนก็ทุกวัน แต่ก็ยังไม่รอดพ้นเงื้อมือมิจฉาชีพ วันนี้ก็ยังต้องเตือนกันต่อ ลงสนามข่าวนี้ไปกับคุณอารียา แก้วสุวรรณ ปัจจุบันนี้ มิจ ที่ไม่ใช่มิตรแบบเพื่อนฝูง แต่เป็นมิจฉาชีพออนไลน์ ออกอาละวาดอย่างหนัก จนทุกคนแทบจะเคยประสบพบเจอกับตัว เป็นประสบการณ์กันถ้วนหน้า แฝงตัวมาในรูปแบบต่าง ๆ อย่างมุขเดิมที่เรา ๆ ท่าน ๆ รู้ทันแล้ว อย่างคอลเซ็นเตอร์จากหน่วยงานราชการ ข่าวสารก็ออกอากาศตักเตือนกันทุกวัน แต่มิจฉาชีพเหล่านี้ก็ไม่ลดละ กลายร่าง กลายพันธุ์ เปลี่ยนรูปแบบ เปลี่ยนวิธีการไปเรื่อย ๆ ไม่เว้นแม้แต่คนมีชื่อเสียง หรือเป็นที่รู้จักในสังคม ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างตัวเป็นธนาคารมาเพื่อหลอกลวง แต่ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นคือมูลค่าของเงินที่หามาจากน้ำพักน้ำแรงกว่า 4 ล้านบาท ที่หายวับไปกับตาแบบไม่มีวี่แววว่าจะได้กลับคืน อย่างที่บอกไป แก๊งคอลเซ็นเตอร์นับว่าเป็นมุขที่ชาวบ้านรู้ทันแล้ว แต่รูปแบบใหม่ที่ผุดขึ้นมารายวัน จนแยกไม่ออกว่าอันไหนมิตรแท้ อันไหนมิจฉาชีพ อย่างล่าสุด หลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน จนถูกดูดเงินเกลี้ยงบัญชี ฟังเสียงสะท้อนของผู้เสียหายที่หลวมตัว ถูกหลอกจนเอาทรัพย์สินของตัวเองกลับมาไม่ได้แล้ว ก็คงจะเป็นเสียงกระตุ้นเตือนให้กับว่าที่เหยื่อรายต่อไป ไม่ให้พลาดท่าเช่นนี้อีก แต่ด้วย มิจ เหล่านี้ ที่ไม่เป็นมิจจริง ๆ ประชาชนอีกหลายคนก็ระแวง และระวังกันอย่างเต็มที่ ฝั่งเจ้าหน้าที่เอง น่าจะเป็นฝ่ายที่ประชาชนต้องการให้เป็นที่พึ่งมากที่สุด เมื่อหลวมตัวถูกหลอกไปแล้ว เพราะสติก็พัง สตางค์ก็เสีย อย่างแรกที่คิดออกคือต้องแจ้งตำรวจ แต่ความเป็นจริงแล้ว ถามว่าช่วยได้มากน้อยแค่ไหน ตอบตามความเป็นจริงคือ ไม่ได้เลย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บอกว่า มาตรการที่กำลังดำเนินการ คือจะมีการบังคับใช้กฎหมาย เพิ่มโทษ เอาผิด มิจฉาชีพเหล่านี้ คือเพิ่มทั้งโทษจำคุก และโทษปรับ ให้รุนแรงมากขึ้นกว่าที่มีมา หวังว่าจะเกรงกลัวกฎหมายบ้านนี้ เมืองนี้กันบ้าง