เครื่องกระตุกหัวใจ (AED) หายใน กทม.

วันที่ 25 ม.ค. 2566 เวลา 11:37 น.

ห้องข่าวภาคเที่ยง - ทีมข่าว7HD ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดติดตั้ง เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ AED ที่ป้อมตำรวจจราจร พบบางแห่งเหลือแต่ตู้ ไม่มีตัวเครื่องแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้เพจดังชี้เป้า ทั่วกรุงเทพมหานคร เครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะ หายไปแล้ว 27 เครื่อง เพจ Drama-addict โพสต์ข้อความ "เครื่อง AED" หรือ "เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ” ที่มีวางไว้ตามจุดต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำหรับช่วยชีวิตผู้ป่วยจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ถูกมือดีขโมยไป 27 เครื่อง มูลค่ารวม 1.8 ล้านบาท ทีมข่าว 7HD ลงพื้นที่บริเวณป้อมจราจรแยกราชดำริ พบตู้ใส่เครื่อง AED แต่พอเปิดดู ไม่พบเครื่องอยู่ภายใน ซึ่งเจ้าหน้าที่ บอกว่า เป็นอีกหนึ่งจุด ที่เครื่องหายไป และบริเวณนี้ก็มีกล้องวงจรปิดติดตั้งอยู่ และมีผู้คนพลุกพล่าน สามารถมองเห็นเครื่องนี้ได้ง่าย ส่วนอีก 1 จุดบริเวณป้อมจราจร แยกศาลาแดง พบว่า ภายในตู้ยังมีเครื่อง และอุปกรณ์อยู่ครบ สภาพพร้อมใช้งาน พอตรวจสอบจากแอปพลิเคชัน AED กระตุกหัวใจ ซึ่งจะเป็นแผนที่แสดงจุดที่ติดตั้งเครื่อง AED ไว้ ตามจุดสำคัญต่าง ๆ ก็พบว่า หลายจุดขึ้นสีเทา แสดงสถานะกำลังซ่อมแซม แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า สถานะนี้ หมายถึงเครื่องหายไป นายแพทย์ธนดล โรจนศานติกุล หัวหน้าศูนย์กู้ชีพ ฝ่ายเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลว่า จุดประสงค์หลักที่มอบเครื่อง AED ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ต้องการให้ติดตั้งในที่สาธารณะ เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิต ของผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้มอบให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำติดตั้งตามสถานีตำรวจ และป้อมจราจรตามแยกต่าง ๆ ที่มีผู้คนจำนวนมาก เพราะตามหลักการ ต้องเป็นจุดที่เข้าถึงได้ง่าย ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ถูกล็อกกุญแจ ต้องไม่ถูกเก็บไว้ในสำนักงาน เพื่อให้ประชาชนทุกคนพร้อมหยิบไปใช้งาน ช่วยชีวิตผู้ป่วย ขณะนี้ติดตั้งแล้วเสร็จ 255 เครื่อง ราคาเรื่องละ 69,900 บาท โดยจากการศึกษา พบว่า คนไข้ที่หัวใจหยุดเต้นฉับพลัน ถ้ามีเครื่อง AED อยู่ในที่เกิดเหตุ มีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า การที่รถพยาบาลไปถึง หรือ นำตัวผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาล ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร คุณหมอวอนผู้ที่พบเห็นเครื่องที่ถูกขโมยไป หากช่วยกันติดตามกลับมาได้ ก็จะช่วยชีวิตคนได้อีกมาก