คอลัมน์หมายเลข 7 : ถึงเวลาสะสางทุจริต ซื้อ-ขาย งานวิจัย

วันที่ 16 ม.ค. 2566 เวลา 20:11 น.

ข่าวภาคค่ำ - หลังปีใหม่ มีข่าวฉาวเกิดขึ้นแทบทุกวงการ ไม่เว้นแม้กระทั่งแวดวงการศึกษา หลังมีการตรวจสอบพบนักวิชาการไทยบางคน ซื้อผลงานวิจัยจากต่างประเทศมาสร้างเป็นผลงานของตัวเอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยันตรวจสอบกันแค่ไหน มีช่องโหว่กฎหมายอย่างไร ติดตามในคอลัมน์หมายเลข 7 กับคุณสุธาทิพย์ ผาสุข อาจารย์มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตสมุทรสาคร ทดลองค้นหาการซื้อขายงานวิชาการ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ให้ทีมข่าวของเราดู ผลออกมาอย่างที่เห็น ไม่ถึงวินาที ข้อมูลก็ปรากฏออกมาให้เลือกช็อปได้อย่างง่ายดาย ง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปาก ราคาซื้อขายในเว็บไซต์จะลดหลั่นกันตามลำดับของชื่อ หากชื่ออยู่ในอันดับแรกของงานวิชาการ ราคาจะสูง 30,000-40,000 บาท โดยสาเหตุที่ทำให้บุคลากรในแวดวงศึกษาดิ้นรนสร้างผลงานทางวิชาการ จนเกิดการซื้อ-ขายงานวิชาการขึ้น ก็เป็นเพราะมีผลต่อตำแหน่งทางวิชาการ บางคนทำเพื่อรักษาสถานภาพ หรือไม่ก็เพื่อรักษาฐานเงินประจำตำแหน่ง เนื่องจากมีข้อกำหนดจากกระทรวงฯ หากมีตำแหน่งทางวิชาการ จะต้องมีงานวิจัยออกมาทุกปี สอดคล้องกับข้อมูลของ รศ.ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน ที่สะท้อนว่าเงื่อนไขการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ที่ใช้งานวิจัยมาเป็นตัวชี้วัด กลายเป็นต้นตอของการทุจริต ธุรกิจสีดำ ทั้งที่รู้ว่าผิดจริยธรรม จึงควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มองที่คุณภาพงาน มากกว่าปริมาณผลงานที่ตีพิมพ์ ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ กระทรวง อว. ส่งหนังสือด่วนถึงทุกมหาวิทยาลัย ให้เร่งรัดดำเนินการตรวจสอบข้อมูลบุคลากรในสังกัดอย่างใกล้ชิด โดยให้รายงานผลการตรวจสอบให้ทราบเป็นระยะ ขณะเดียวกัน ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. ประกาศเจตนารมณ์ไม่ยอมรับการกระทำผิดดังกล่าว ตรวจสอบพบลงโทษทันที อย่างไรก็ตาม ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่ากฎหมายอาจมีช่องโหว่ ไม่สามารถเอาผิดการซื้องานวิจัยด้วยเหตุจูงใจที่ไม่ได้กำหนดไว้ในกฎหมาย จึงมีข้อเสนอให้เพิ่มลักษณะการกระทำผิดให้กว้างขวางมากขึ้น ป้องกันคนทำผิดหลุดรอดจากตะแกรงตรวจสอบ ที่สำคัญคือผู้บริหารสถานศึกษาต้องไม่หลับตาข้างหนึ่ง ทำเป็นมองไม่เห็นพฤติกรรมผิดจริยธรรมเหล่านี้ ด้วยการลงโทษอย่างเคร่งครัด จึงจะเขี่ยปลาเน่าออกจากเข่งได้