เพื่อไทยยืนยัน ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ทำได้จริง

วันที่ 7 ธ.ค. 2565 เวลา 20:02 น.

ข่าวภาคค่ำ - นโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 ถูกวิจารณ์ว่า เป็นแค่การขายฝัน ทำเศรษฐกิจเสียหายทั้งระบบ ซึ่งพรรคเพื่อไทย เจ้าของนโยบายนี้ ยืนยัน ทำได้จริง ไม่เป็นภาระให้ภาคเอกชน เพื่อไทยยืนยัน ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ทำได้จริง หลังพรรคเพื่อไทย ประกาศหากได้เป็นรัฐบาล จะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 ก็ทำให้ทั้งภาคสังคม และฝ่ายการเมือง ต่างออกมาวิจารณ์ว่า เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ทำให้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ต้องนำทีมแถลงข่าว ยืนยันว่า ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ไม่ใช่การผลักภาระทั้งหมดไปที่ภาคเอกชน แต่เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการสร้างรายได้ให้เอกชน สร้างเศรษฐกิจให้โตเฉลี่ย 5% ต่อปี เพื่อที่ผู้ประกอบการและประชาชน จะเดินหน้าไปด้วยกันได้ ซึ่งเคยทำสำเร็จมาแล้ว สมัยรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ประกาศขึ้นค่าแรง 300 บาท วิจารณ์แซ่ด ค่าแรง 600 บาท กระทบเศรษฐกิจทั้งระบบ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า จะหาเสียงอย่างไร ก็ควรคำนึงถึงหายนะทางเศรษฐกิจด้วย ไม่ควรหาเสียงเพราะนึกสนุก เพราะสิ่งที่ประกาศออกมา เป็นการโยนระเบิดเวลาให้เจ้าของกิจการ จนส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ พร้อมยกตัวอย่างความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2554 หลังจากที่ขึ้นค่าแรง 300 บาท ว่า ได้ส่งผลให้แรงงานในจังหวัดชายขอบ ย้ายมาทำงานในเมืองใหญ่ที่มีการปรับเพิ่มค่าแรง จนเกิดผลกระทบต่อธุรกิจหลายภาคส่วน นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย มองว่า การปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดด ทำให้เกิดเงินเฟ้อ ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคสูงขึ้น และกระทบไปถึงประชาชน และกระทบต่อการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม จนอาจต้องย้ายฐานการผลิต ซึ่งนโยบายดังนั้น อาจเป็นแค่เทคนิคในการหาเสียง แต่ก็สามารถทำลายโครงสร้างค่าแรงได้ ผู้นำแรงงาน ค้านค่าจ้างขายฝัน 600 บาท ทางฝั่งลูกจ้าง นายชาลี ลอยสูง ผู้นำแรงงาน รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ระบุ การชูประเด็นค่าจ้าง 600 บาท เป็นนโยบายขายฝัน ไม่อยู่กับความจริง เป็นการสร้างกระแสทางการเมือง ข้อเท็จจริงดุลยภาพค่าจ้าง ที่คณะกรรมการฯ สำรวจมา 492 บาทต่อวัน ก็ยังไม่ได้ ทุกวันนี้ได้ค่าจ้างขั้นต่ำ 328-354 บาท แล้วจะผลักดันไปถึง 600 บาท ยิ่งจะทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น และเสี่ยงกับธุรกิจไปต่อไม่ไหว เสี่ยงถูกเลิกจ้างด้วย กลุ่มลูกจ้างจึงขอเรียกร้องให้ควบคุมราคาสินค้าและบริการ ไม่ให้พุ่งสูงจะดีกว่า