ประกันสังคม ชี้แจง 65 ปี ไม่ใช่การขยายอายุเกษียณ แต่ขยายฐานอายุแรกเข้าม.33 เพื่อส่งเสริมผู้สูงอายุเข้าสู่ระบบประกันสังคมพร้อมรับสิทธิประโยชน์สูงสุดจากการจ้างงาน

View icon 153
วันที่ 7 ก.ย. 2567
แชร์

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ชี้แจงสื่อมวลชนประเด็นข่าวเรื่องการขยายฐานอายุผู้ประกันตน มาตรา 33 ในการจ่ายเงินชราภาพ ยืดไปเป็น 65 ปี นั้น ข้อเท็จจริงคือการแก้ไข พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ.…. (ฉบับที่ 5) ที่อยู่ระหว่างการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาตามขั้นตอนนั้น มิได้เป็นการแก้ไขอายุการเกิดสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจากอายุ 55 ปี เป็น 65 ปี แต่อย่างใด เป็นเพียงการแก้ไขอายุแรกเข้าของการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งปัจจุบัน กำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะต้องมีอายุระหว่าง 15 – 60 ปี   การแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ ได้แก้ไขอายุแรกเข้าการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 เป็นอายุระหว่าง 15 – 65 ปี

ทั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีอายุไม่เกิน 65 ปี หากได้รับการว่าจ้างงานจะสามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคม เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทุกกรณีได้อย่างครบถ้วน เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุอีกด้วย สำหรับผู้ประกันตนที่เกษียณ หรือสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน เมื่ออายุ 55 ปี ยังคงสามารถยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพได้ตามปกติ

นายบุญสงค์ กล่าวต่อไปว่า การขยายฐานอายุผู้ประกันตน มาตรา 33 เป็นมาตรการหนึ่งที่สำนักงานประกันสังคมให้ความสำคัญกับสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ รวมถึงสร้างหลักประกันทางสังคมอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค และพร้อมดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตนทุกช่วงวัย ให้ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด


66dc56700fc8e0.63778463.jpeg

66dc56709195e9.08657511.jpeg


66dc5670d432a9.34809143.jpeg