เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่

คนไทยทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานในการรักษาพยาบาล ยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน วิกฤต ได้ทุกที่ แม้จะไม่ใช่โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ หรือสิทธิบัตรทอง เพื่อให้ผู้ป่วยในภาวะวิกฤต สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างปลอดภัย โดยไม่เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลภายใน 72 ชั่วโมง หรือจนพ้นภาวะวิกฤต

แต่ในทางปฏิบัติยังคงพบปัญหาการปฏิเสธการรักษา เช่น กรณีผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน ที่ต้องใช้สิทธิ UCEP ในพื้นที่ต่างจังหวัด แต่โรงพยาบาลปฏิเสธ โดยอ้างว่าต้องส่งตัวไปที่โรงพยาบาลตามสิทธิของผู้ป่วย อีกจังหวัดหนึ่ง

กัลยทรรศน์  ติ้งหวัง , อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า "เขาให้มาขอใบส่งตัวทางโรงพยาบาลชุมชน เขาบอกว่าอยู่โรงพยาบาลหาดใหญ่ แล้วเกิดอุบัติเหตุแล้วต้องส่งตัวกลับมาที่ จ.สตูล ก่อนหรือ ซึ่งมันไม่ใช่ นี่คือฉุกเฉิน เคสนี้ต้องติดต่อประสานกับ สปสช.สุดท้ายยกหูแล้วเราต้องให้รายละเอียดส่งเข้าไปในระบบ ที่จะบันทึกข้อมูล คนนี้อยู่ที่ไหน บ้านเลขที่อะไร ซึ่งมันล่าช้าไงคะ ถึงบอกว่าระบบการสื่อสาร ระบบส่งต่อ เรื่องของระบบความเข้าใจอันนี้ต้องทบทวนอย่างที่พี่บอก"

สถานพยาบาลควรมีการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ เรื่องสิทธิของผู้บริโภคในการรักษา กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สถานพยาบาลมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิผู้บริโภคเหมือนที่ผ่านมา 

พบปัญหา เรื่องบริการสุขภาพ ร้องเรียนได้ที่ สภาองค์กรของผู้บริโภค 0 2239 1839