เปิดใจนักสังคมสงเคราะห์ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน “ลัดดาวัลย์ จอมใจ”บำบัด ฟื้นฟู สร้างเกราะคุ้มกันทางจิตใจให้ผู้ประกันตน

View icon 359
วันที่ 24 มิ.ย. 2565
แชร์

“เมื่อผู้ประกันตนบาดเจ็บจากการทำงานจนต้องสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ การฟื้นฟูทางด้านจิตใจจะเป็นปราการด่านสำคัญ ที่ช่วยดึงให้ผู้เข้ารับการฟื้นฟูอยู่กับสิ่งที่เป็นได้ด้วยความเข้มแข็ง และหน้าที่ของศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานมีเป้าหมายสำคัญ คือ ผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูทั้งหมด 100% จะต้องกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข” (ลัดดาวัลย์ จอมใจ นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ)

ภารกิจสำคัญของศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน นอกจากจะให้การบำบัด ฟื้นฟูทางด้านร่างกายให้กับผู้ประกันตนที่ประสบเหตุจากการทำงาน จนต้องสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วยกัน คือ การฟื้นฟู เยียวยาทางด้านจิตใจ ซึ่งศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน จะให้การดูแลตั้งแต่แรกรับ ด้วยวิธีการประเมินสภาพปัญหาเบื้องต้น และให้คำวินิจฉัยว่า ผู้เข้ารับการฟื้นฟูมีความต้องการความช่วยเหลือในด้านใด ควรให้คำแนะนำอย่างไร ซึ่งจะมีพี่เลี้ยงที่คอยให้การดูแล คอยประเมินอาการและเป็นที่ปรึกษาตลอดการบำบัด ฟื้นฟู 

นางสาวลัดดาวัลย์ จอมใจ นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ กล่าวว่า “การสูญเสียอวัยวะ เปรียบเสมือนการสูญเสียคนที่รัก ซึ่งการที่จะยอมรับ หรือทำใจได้กับความสูญเสียจึงไม่ใช่เรื่องง่าย” ในกรณีของผู้ประกันตนที่เข้ารับการฟื้นฟู ส่วนใหญ่เดิมทีมักมาจากผู้ที่เคยเป็นกำลังหลักของครอบครัว ทำงานเลี้ยงชีพได้ด้วยตนเอง แต่ด้วยประสบเหตุจากการทำงานจนสูญเสียอวัยวะ และใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทน เข้ารับการบำบัดรักษาที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน กลุ่มคนเหล่านี้ จึงเรียกได้ว่า เจอเรื่องพลิกผันในชีวิต จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการดูแลทางด้านจิตใจ เนื่องจาก เคยทำงานได้ ช่วยเหลือตนเองได้ ดังนั้นกระบวนการเยียวยาทางด้านจิตใจจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และต้องทำควบคู่ไปกับการฟื้นฟูทางด้านร่างกาย เพื่อให้กระบวนการบำบัดประสบความสำเร็จ การฟื้นฟูทางด้านจิตใจจึงมีกระบวนการหลัก ๆ 3 ด้านได้แก่ 

1.ด้านทัศนคติ โดยพยายามสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านความคิด มีกระบวนการเปลี่ยนทัศนคติโดยสังคม ให้ผู้เข้ารับการฟื้นฟู ได้มีโอกาสเห็นเพื่อนที่มีเรื่องราวคล้ายกัน ตลอดจนได้ร่วมพูดคุยเพื่อปรับทัศนคติวิธีคิด 
2.พัฒนาศักยภาพ จะเป็นการช่วยให้ผู้เข้ารับการฟื้นฟูเห็นถึงคุณค่าของตนเอง ไม่โฟกัสในจุดที่ตนเองมีความบกพร่อง หรือที่ต้องสูญเสียอวัยวะ และให้สามารถใช้อวัยวะที่มีอยู่อย่างมีคุณค่ามากที่สุด 
3.กิจกรรมเสริม ซึ่งจะเป็นการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้ผู้เข้ารับการฟื้นฟูได้ทดลองทำ เช่น พาไปทัศนศึกษา การทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกัน ตลอดจนการทดลองออกไปใช้ชีวิตนอกศูนย์ฟื้นฟู ฯ เพื่อให้กล้าเผชิญหน้ากับสังคม และสายตาของผู้คนได้อย่างไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหากระทบกับจิตใจ 

นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้เข้ารับฟื้นฟู กับนายจ้างเพื่อประเมินการทำงาน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกันตนที่เข้ารับการฟื้นฟูมีความมั่นใจ สามารถเลือกทำงานที่เหมาะกับศักยภาพทางร่างกาย และก้าวต่อไปด้วยความพร้อม และความมั่นคง 
และทั้งหมดนี้คือสิทธิประโยชน์ ที่ลูกจ้างจะได้รับเมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานหากมีข้อสงสัยสามารถตรวจสอบ หรือติดตามข่าวสารสำนักงานประกันสังคมผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ได้ที่ 

Website: www.sso.go.th
Facebook: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
Instagram: sso_1506
Twitter: @sso1506
YouTube: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
Hotline: 1506 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
LINE: @SSOTHAI
TikTok: @SSONEWS1506


62b56c16d0f845.68264655.jpg

62b56c171931b1.71698987.jpg