ชาคริต แย้มนามร่วมกับยูนิเซฟ ประเทศไทย รณรงค์ช่วยชีวิตเด็กขาดสารอาหารรุนแรงในช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19

View icon 400
วันที่ 3 ก.ย. 2564
แชร์

กรุงเทพฯ, 30 สิงหาคม 2564 – นักแสดงชื่อดังชาคริต แย้มนามร่วมกับยูนิเซฟในโครงการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือเด็กที่ขาดสารอาหารรุนแรงทั่วโลกหลังจากที่สถานการณ์เลวร้ายลงในช่วงแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ในวิดีโอที่เผยแพร่บนโซเชียลมีเดียและโทรทัศน์ ชาคริตได้เชิญชวนให้คนไทยร่วมสนับสนุนยูนิเซฟเพื่อช่วยชีวิตของเด็ก ๆ ที่ป่วยจากการขาดสารอาหารรุนแรงเฉียบพลัน โดยเงินบริจาค 300 บาทจะช่วยให้ยูนิเซฟสามารถซื้ออาหารบำบัดฉุกเฉินได้ 24 ซอง เพื่อนำไปรักษาเด็ก ๆ จากโรคขาดสารอาหารรุนแรง และผู้บริจาคจะได้รับกล่องเก็บหน้ากากอนามัยแบบพกพา

ชาคริตกล่าวว่า “ทุกวินาทีมีเด็กหนึ่งคนที่ต้องเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคขาดสารอาหารรุนแรงเฉียบพลัน ในฐานะพ่อคนหนึ่ง ผมรู้สึกเป็นห่วงเด็ก ๆ ที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์อันโหดร้ายนี้ พวกเขาต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 และทุกคนสามารถหยุดความสูญเสียนี้ได้ด้วยหนึ่งทางออกง่าย ๆ ครับ

วิดีโอระดมทุน https://www.youtube.com/watch?v=yqX3Diyq1gQ

พิมพ์ 300 และส่ง SMS ไปที่ 4712300 เพื่อบริจาค 300 บาท  จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564

การขาดสารอาหารส่งผลเสียอย่างถาวรต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก ๆ องค์การอนามัยโลกชี้ว่าภาวะขาดสารอาหารเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเกือบครึ่งหนึ่งทั่วโลก มีการประมาณการว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีกว่า 2 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคขาดสารอาหารรุนแรงเฉียบพลันในพ.ศ. 2562   นอกจากนี้ ในพ.ศ. 2563 มีเด็กกว่า 149 ล้านคนต้องเผชิญกับภาวะเตี้ยแคระแกร็น (ส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานเมื่อเทียบกับอายุ) ในขณะที่เด็กอีกประมาณ 45 ล้านคนมีภาวะผอมแห้ง 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาหารและโภชนาการทั่วโลกต้องหยุดชะงัก โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา ซึ่งมีผู้คนที่กำลังเผชิญกับความหิวโหยเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ ทั้งนี้ ยูนิเซฟประเมินว่า เด็กกว่า 100,000 คนในเขตทิเกรย์ทางตอนเหนือของประเทศเอธิโอเปียอาจต้องเผชิญกับภาวะขาดสารอาหารรุนแรงเฉียบพลันตลอดหนึ่งปีข้างหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 10 เท่าจากสถานการณ์ปกติ ในขณะที่ภาวะการขาดสารอาหารของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีอาจเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าในพื้นที่ภัยแล้งทางตอนใต้ของมาดากัสการ์

นอกจากชาคริตแล้ว ยังมีเชฟและผู้มีชื่อเสียงอีก 6 ท่านที่ร่วมสนับสนุนยูนิเซฟด้วยการแชร์สูตรอาหารสุดโปรดที่ทำจากถั่ว ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของอาหารบำบัดฉุกเฉิน ได้แก่ หนูดี วนิษา เรซ เฟรนด์ออฟยูนิเซฟ, เชฟน่าน หงษ์วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและผู้ก่อตั้ง KRUA.CO, พฤกษ์ สัมพันธวรบุตร เชฟกระทะเหล็กประเทศไทย, แพทตี้ ชนัญชิดา พงษ์เพ็ชร แชมป์มาสเตอร์เชฟจูเนียร์คนแรกของประเทศไทย, มาร์ค ภาวริสร์ พานิชประไพ จากมาสเตอร์เชฟจูเนียร์ประเทศไทย ซีซั่น 1, และไก่ สมพล ปิยะพงศ์สิริ ศิลปินและพิธีกร

โครงการนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรสื่อและภาคธุรกิจหลากหลายองค์กร ยกตัวอย่างเช่น ช่อง 7HD พันธมิตรสำคัญของยูนิเซฟที่ได้มาช่วยเผยแพร่โครงการผ่านช่องทางต่าง ๆ และช้อปปี้ ผู้นำแพลทฟอร์มอีคอมเมิร์ซแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวันร่วมฉลอง ‘Shopee 9.9 Super Shopping Day’ ด้วยการเผยแพร่การสัมภาษณ์ชาคริตเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเด็กขาดสารอาหารรุนแรงในช่องช้อปปี้ไลฟ์ในวันที่ 17 กันยายน เวลา 16.00 – 17.00 น. นอกจากนี้ยังมีพันธมิตรอื่น ๆ ที่ช่วยสนับสนุนการเผยแพร่โครงการ ได้แก่ บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน), บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด, บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้า กรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท จีซีที มีเดีย จำกัด ผู้ผลิตรายการในช่อง กอล์ฟ ชาแนล ไทยแลนด์, บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จํากัด, และ บริษัท สุภัทรา เรียลเอสเตท จำกัด

###
ชมวิดีโอโครงการระดมทุนได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=yqX3Diyq1gQ
พิมพ์ 300 และส่ง SMS ไปที่ 4712300 เพื่อบริจาค 300 บาท   (300 บาทต่อหนึ่งข้อความ จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564)
บริจาคผ่านเว็บไซต์: https://unicef.or.th/child

หมายเหตุถึงบรรณาธิการ
รายงาน The State of Food Security and Nutrition in the World 2021 เป็นรายงานฉบับแรกของโลกในการประเมินสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารและภาวะการขาดสารอาหาร รายงานฉบับดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ สหประชาชาติ กองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม โครงการอาหารโลก และยูนิเซฟ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่
ณัฐฐา กีนะพันธ์ 086 616 7555, nkeenapan@unicef.org
สิรินยา วัฒนสุขชัย 084 700 0185, swattanasukchai@unicef.org

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริจาค:
นภาวดี อาณานุการ 081 425 6595, nananukan@unicef.org