ยูนิเซฟเผยผลกระทบโควิด-19 ต่อเยาวชนในไทย พบ 8 ใน 10 เครียดปัญหาการเงินของครอบครัวมากสุด

View icon 448
วันที่ 16 เม.ย. 2563
แชร์

วันนี้ องค์การยูนิเซฟได้ออกผลสำรวจล่าสุด เรื่องผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนในประเทศไทย พบว่า เด็กและเยาวชนกว่า  8 ใน 10 คน มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเงินของครอบครัว ซึ่งเป็นประเด็นที่เด็กและเยาวชนกังวลมากที่สุด เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ อันเป็นผลมาจากการปิดตัวของธุรกิจต่าง ๆ ตลอดจนการถูกเลิกจ้าง

การสำรวจนี้จัดทำโดยองค์การยูนิเซฟ ร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ โดยเป็นการสำรวจครั้งแรกที่มุ่งศึกษาผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนในประเทศไทย และทำความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการที่แท้จริงของพวกเขา โดยเก็บข้อมูลผ่านแบบสอบถามออนไลน์ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม ถึง 6 เมษายน จากเด็กและเยาวชนจำนวน 6,771 คนทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อายุ 15-19 ปี

ผลสำรวจยังพบว่า เด็กและเยาวชนกว่า 7 ใน 10 คน กล่าวว่าวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ โดยพวกเขามีความเครียด วิตกกังวลและเบื่อหน่าย นอกจากนี้ เด็กและเยาวชนเกินครึ่งรู้สึกกังวลด้านการเรียน การสอบ และโอกาสในการศึกษาต่อ เนื่องจากการปิดโรงเรียนเป็นระยะเวลานาน ในขณะที่ ร้อยละ 7 รู้สึกกังวลเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เช่น การทะเลาะกันของผู้ปกครองและการทำร้ายร่างกาย

ผลสำรวจยังสะท้อนปัญหาของเยาวชนกลุ่ม LGBTIQ จากการที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน โดยร้อยละ 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกกังวลเรื่องเพศสภาพที่ถูกกดดันเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่สามารถแสดงอัตลักษณ์หรือตัวตนกับครอบครัวได้ รวมถึงบางส่วนที่อาจไม่สามารถเข้าถึงฮอร์โมนเสริมได้ในช่วงนี้ 

นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “ผลสำรวจนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าวิกฤตครั้งนี้ส่งผลกระทบมากมายหลายด้านต่อเด็ก ๆ และเยาวชนหลายกลุ่ม โดยเด็กและเยาวชนต่างมีความเครียด ความกลัวและวิตกกังวลไม่ต่างจากผู้ใหญ่ เวลานี้ครอบครัวถือเป็นพลังสำคัญที่จะช่วยให้เด็ก ๆ จัดการกับสภาวะเหล่านี้ได้ พวกเขาควรได้รับความรักความเอาใจใส่ในช่วงเวลานี้มากกว่าที่เคย”

/home/www/ch7/htdocs/files/images/src/2020/04/16/69UNICEF_Youth_Survey_01.jpg

ดร.วาสนา อิ่มเอม รักษาการหัวหน้าสำนักงาน  กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “การสำรวจแสดงให้เห็นว่าร้อยละ 36  ของเยาวชนและวัยรุ่นกว่า 6,700 คนที่ตอบแบบสอบถามระบุว่ามีผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีอยู่ที่บ้าน นี่เป็นโอกาสที่ดีที่จะให้เยาวชนและวัยรุ่นเป็นผู้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสผ่านกิจกรรมแบบเว้นระยะห่างทางสังคมที่สนับสนุนด้านสุขภาพและจิตใจให้แก่ผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในภาวะที่เสี่ยงที่สุดในช่วงการระบาดของโควิด -19 ผ่านทางการสร้างความรู้และการตระหนักรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพของตนเองและป้องกันการเป็นพาหะในช่วงนี้”

ผลสำรวจยังได้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของเด็กและเยาวชนในด้านความต้องการเรียนรู้ออนไลน์เพื่อเสริมความรู้และทักษะระหว่างที่โรงเรียนปิดและต้องอยู่แต่ในบ้าน โดยพบว่า สิ่งที่เด็กและเยาวชนอยากเรียนเพิ่มเติมมากที่สุด คือ ภาษาอังกฤษ รองลงมาคือ ความรู้เสริมในวิชาที่กำลังเรียนอยู่ในปัจจุบัน ในขณะที่ เด็ก 1 ใน 4 คนระบุว่าอยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการกับความเครียดและโรคซึมเศร้า

ด้านนางสาวสุภาพิชญ์ ไชยดิษฐ์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ภาครัฐต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนกับปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนทั้งในช่วงการแพร่ระบาดและหลังสถานการณ์ ตลอดจนให้ความใส่ใจเด็กและเยาวชนในแต่ละช่วงวัย เพราะเด็กทุกคนควรได้รับการปกป้องคุ้มครองแม้อยู่ที่บ้าน เด็ก ๆ ควรได้รับการส่งเสริมและพัฒนาให้เหมาะสมกับพัฒนาการและช่วงวัย"

นายเรอโนด์ เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า “วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด -19 เป็นมากกว่าวิกฤตทางสุขภาพ แต่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมต่อทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เปราะบางเช่นเด็กและเยาวชน แต่เยาวชนเองก็มีศักยภาพมากมายที่จะเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง พวกเขามีพลัง มุ่งมั่น และมีทักษะด้านเทคโนโลยีที่จะมาช่วยหาแนวทางใหม่ ๆ ด้านดิจิทัล ดังนั้น การสนับสนุนเยาวชนจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก ไม่เพียงแต่ปกป้องพวกเขาจากโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพต่อการรับมือกับของวิกฤต และช่วยสร้างสังคมแห่งการมีส่วนร่วม ยั่งยืน และเข้มแข็งต่อไป” 

ยูนิเซฟได้เรียกร้องให้รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ เสริมมาตรการคุ้มครองทางสังคมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มประชากรที่เปราะบางเพื่อบรรเทาผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ที่มีต่อเด็กและครอบครัว พร้อมส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ออนไลน์ การศึกษาทางไกล ตลอดจนบริการให้คำปรึกษาเยียวยาจิตใจและบริการทางสุขภาพจิตสำหรับวัยรุ่น

ในประเทศไทย ยูนิเซฟร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (Path2Health) จัดคลินิกออนไลน์ 24 ชั่วโมง ชื่อ เลิฟแคร์ สเตชั่น www.lovecarestation.com เพื่อให้คำปรึกษาแก่วัยรุ่นในด้านต่าง ๆ โดยเป็นบริการเฉพาะสำหรับวัยรุ่นที่เข้าถึงง่าย และเป็นมิตรกับวัยรุ่น

นายดาวินกล่าวทิ้งท้ายว่า “เด็กและเยาวชนมากมายกำลังประสบปัญหาและต้องแบกรับภาระอันเป็นผลพวงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปอีกนาน เราเห็นปัญหาต่าง ๆ มากมายหลังการแพร่ระบาดเพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์  โดยหลายครอบครัวต้องกระเสือกกระสนในการมีชีวิตรอด หลายคนไม่มีเงินแม้จะซื้อข้าวให้ลูกกิน เราต้องมีมาตรการที่จะรับมือกับผลกระทบของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และต้องร่วมมือกันอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนต้องแบกรับผลกระทบ หรือจมอยู่ในวงจรของปัญหาที่อาจยืดเยื้อต่อไปไม่สิ้นสุด”

######

ดาวน์โหลดผลสำรวจเบื้องต้น ได้ที่ https://uni.cf/2XvL6qM

ข้อมูลเพิ่มเติม
ยูนิเซฟกำลังดำเนินการร่วมกับรัฐบาลและพันธมิตรในการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 โดยเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลและป้องกันตนเองจากโควิด-19  ให้แก่ประชาชน ตลอดจนกลุ่มแรงงานข้ามชาติใน 18 จังหวัด นอกจากนี้ ยังดำเนินการจัดส่งเครื่องวัดอุณภูมิและเครื่องใช้เพื่อสุขอนามัยไปยังเด็กและเยาวชนที่เปราะบางทั่วประเทศ พร้อมกับจัดทำคู่มือสำหรับโรงเรียนเพื่อให้แน่ใจว่าเด็ก ๆ จะกลับมาเรียนอย่างปลอดภัยเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ใน

ด้านนโยบายสังคม ยูนิเซฟกำลังจัดทำการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีต่อประชากรกลุ่มเปราะบางเพื่อทำข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลไทยเพื่อขยายระบบความคุ้มครองทางสังคมไปสู่ครัวเรือนที่เปราะบางที่สุดต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโควิด-19 www.unicef.org/thailand/th/coronavirus/covid-19

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่:
ณัฐฐา กีนะพันธ์, 086 616 7555, nkeenapan@unicef.org 
วรวุฒิ ชูมณี , 093 442 8289, wchumanee@unicef.org" 407650,"การเป็นวัยรุ่นไม่ใช่เรื่องง่าย และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตพวกเขาง่ายขึ้น เพราะชีวิตต้องเจอทั้งการปิดโรงเรียนชั่วคราวและการยกเลิกกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้เยาวชนจำนวนมากอาจจะพลาดช่วงเวลาที่สำคัญในชีวิต รวมทั้งเวลาแห่งความสนุกสนานในแต่ละวัน เช่น การคุยกับเพื่อนและการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน เยาวชนที่กำลังรู้สึกกังวล โดดเดี่ยว และผิดหวัง โปรดรับรู้ว่า “คุณไม่ได้อยู่เพียงลำพัง”

เพื่อช่วยให้เยาวชนทุกคนฝ่าฟันกับความท้าทายครั้งนี้ องค์การยูนิเซฟได้พูดคุยกับ ดร. ลิซา ดามูร์ นักจิตวิทยาวัยรุ่นผู้เชี่ยวชาญ นักเขียนหนังสือเจ้าของผลงานยอดขายสูงสุด และคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทม์ ที่ได้แนะนำ 6 กลยุทธ์ เพื่อการดูแลตัวเองทั้งทางร่างกายและจิตใจดังนี้

1. “เข้าใจความกังวล” จำไว้ว่าความวิตกกังวลนั้นเป็นเรื่องปกติ
หากใครกำลังรู้สึกกังวลจากหัวข้อข่าวที่น่าตกใจในแต่ละวัน จงจำไว้ว่า คุณไม่ได้รู้สึกเพียงคนเดียวและไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะรู้สึกเช่นนี้ นักจิตวิทยายอมรับกันมานานแล้วว่าความวิตกกังวลเป็นกลไกปกติของร่างกายที่มีประโยชน์ในการแจ้งเตือนให้เราทราบถึงภัยคุกคาม เพื่อหาวิธีป้องกันตนเอง ความกังวลจะช่วยให้เราตัดสินใจว่าจะต้องทำสิ่งใดในขณะนี้ เช่น ไม่พบปะผู้คน หรือไปอยู่ในกลุ่มคนจำนวนมาก หมั่นล้างมือและไม่สัมผัสใบหน้าของตน เป็นต้น ความรู้สึกเหล่านั้นไม่เพียงช่วยให้ตัวคุณเองปลอดภัย แต่ยังรวมถึงผู้อื่นด้วย

เมื่อทราบแล้วว่า ความกังวลใจเกี่ยวกับโควิด-19 เป็นอาการปกติทั่วไป คุณควรเลือกรับข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น จากเว็บไซต์ขององค์การยูนิเซฟ และเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก หากคุณรู้สึกไม่สบายหรือเป็นกังวลเกี่ยวกับเชื้อไวรัส บอกให้ผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ที่คุณไว้ใจทราบเพราะพวกเขาช่วยคุณได้ เราสามารถทำอะไรได้หลายอย่างเพื่อดูแลตัวเราเองและผู้อื่นให้ปลอดภัย รวมทั้งสามารถควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้เป็นอย่างดี เช่น การล้างมือบ่อย ๆ การไม่สัมผัสใบหน้าของเรา และการรักษาระยะห่างทางสังคม จำไว้ว่าการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อโควิด -19 โดยทั่วไปนั้นไม่รุนแรงโดยเฉพาะสำหรับเด็กและคนหนุ่มสาว ที่สำคัญ อาการส่วนใหญ่ของโรคนี้ก็รักษาให้หายได้

2. “ให้เวลากับตัวเอง” ทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ
นักจิตเห็นพ้องกันว่า เมื่อเราตกอยู่ในสภาวะยากลำบากอย่างต่อเนื่อง เราจะต้องแบ่งปัญหาออกเป็นสองส่วน คือปัจจัยที่ควบคุมได้และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ แม้ในเวลานี้ หลาย ๆ อย่างเราไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เรารับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้คือการมองหากิจกรรมที่เราสนใจ ลองทำการบ้าน ดูหนังเรื่องโปรด หรือนอนเอกเขนกอ่านนิยาย เพื่อผ่อนคลายและสร้างสมดุลให้กับชีวิตในแต่ละวัน

3. “โฟกัสสิ่งที่ควบคุมได้” มุ่งมั่นทำสิ่งใหม่
คุณเคยสนใจทำอะไรใหม่ ๆ บ้างไหม เช่น อ่านหนังสือเล่มใหม่ หรือฝึกเล่นเครื่องดนตรีชิ้นใหม่ นี่คือช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด! การมีสมาธิอยู่กับกิจกรรมตรงหน้าและหาวิธีใช้เวลาที่เพิ่มขึ้นอย่างสร้างสรรค์ เป็นวิธีดูแลสุขภาพจิตของคุณที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ตัวฉันเองก็จดรายชื่อหนังสือที่ต้องการอ่าน และสิ่งที่ตั้งใจจะทำทั้งหมดไว้แล้ว

4. “โอบกอดความรู้สึก” ยอมรับความรู้สึกของตัวเอง
การพลาดโอกาสทำกิจกรรมกับเพื่อนฝูง งานอดิเรก หรือการแข่งขันกีฬา ล้วนเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างมากสำหรับวัยรุ่น สิ่งเหล่านี้เป็นการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้วัยรุ่นเศร้าหมอง ซึ่งไม่แปลกเลยที่พวกเขาจะรู้สึกเช่นนั้น และวิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับความผิดหวังเช่นนี้ก็คือ การรู้ว่าตัวเองรู้สึกเช่นไร เมื่อเรารู้สึกเจ็บปวด ทางเดียวที่จะหลุดพ้นก็คือ ต้องผ่านความรู้สึกนั้นมาให้ได้ ดังนั้น หากเศร้าก็จงเศร้า และเมื่อคุณปล่อยให้ตัวเองรู้สึกถึงความเศร้าแล้ว คุณก็จะรู้สึกดีขึ้นอย่างรวดเร็ว เด็กแต่ละคนต่างมีวิธีจัดการกับความรู้สึกของตัวเองที่แตกต่างกัน เด็กบางคนสร้างสรรค์งานศิลปะ บางคนก็ต้องการพูดคุยกับเพื่อนและเชื่อมโยงถึงกันผ่านความเศร้าใจแม้จะอยู่ไกลกัน หรือบางคนอาจหาวิธีบริจาคให้กับธนาคารอาหาร สิ่งสำคัญคือการเลือกทำในสิ่ง “ใช่” สำหรับตัวเอง

5. “เพื่อนคนเดิม เพิ่มเติมคือโซเชียล” หาวิธีใหม่ ๆ ในการสนุกกับเพื่อนฝูง
หากต้องการใช้เวลากับเพื่อนฝูงโดยที่ยังต้องรักษาระยะห่างทางสังคมอยู่ล่ะก็ สื่อสังคมออนไลน์เป็นทางเลือกที่ดีเยี่ยม ลองมาใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่นอาจเข้าร่วมกิจกรรม #มือสะอาด ใน Tik-Tok Challenge ฉันเชื่อมั่นในความคิดสร้างสรรค์ของวัยรุ่นเสมอว่าพวกเขาจะสามารถหาวิธีติดต่อกันทางออนไลน์ด้วยรูปแบบใหม่ ๆ ได้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี การเข้าถึงหน้าจอหรือสื่อสังคมได้อย่างไร้ข้อจำกัดอาจไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะนอกจากไม่ดีต่อสุขภาพแล้วยังอาจเป็นการเพิ่มความวิตกกังวลให้กับตัวเองอีกด้วย ทั้งนี้เยาวชนลองปรึกษาผู้ปกครองเรื่องการจัดสรรเวลาบนหน้าจออย่างเหมาะสม และเรียนรู้วิธีใช้โลกออนไลน์อย่างปลอดภัย

6. “ส่งต่อความรัก” เมตตาตนเองและผู้อื่น
วัยรุ่นบางคนกำลังเผชิญกับการถูกระรานหรือข่มเหงในสถานศึกษา โดยมีสาเหตุมาจากสถานการณ์ไวรัสโคโรน่า วิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับการข่มเหงรังแกทุกรูปแบบคือ การขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เด็กและวัยรุ่นที่ตกเป็นเป้าไม่ควรเผชิญหน้ากับการระรานเหล่านั้นเพียงลำพัง แต่พวกเขาควรหันไปหาเพื่อนหรือผู้ใหญ่ที่จะให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนแก่พวกเขาได้ หากคุณเห็นเพื่อนถูกรังแก จงยื่นมือเข้าไปและพยายามให้ความช่วยเหลือ การไม่ทำอะไรเลยจะทำให้บุคคลนั้นรู้สึกว่าทุกคนไม่ในใจหรือห่วงใยเขา จงจำไว้ว่าคำพูดของคุณสร้างความแตกต่างได้ และต้องไม่ลืมไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนส่งต่อข้อมูลหรือบอกกล่าวสิ่งใด ๆ ที่อาจเป็นการทำร้ายจิตใจผู้อื่น โดยเฉพาะในช่วงภาวะวิกฤตเช่นนี้

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโควิด -19 ได้ที่ www.unicef.org/thailand/th/coronavirus/covid-19
Facebook: @UNICEFThailand | Twitter: @Unicef_Thailand | Website: www.unicef.or.th

สนใจเป็นอาสาสมัครกับยูนิเซฟ ประเทศไทย เข้าไปที่ https://www.unicef.org/thailand/i-am-unicef

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่:
ณัฐฐา กีนะพันธ์, องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย, 086 616 7555, nkeenapan@unicef.org
วรวุฒิ ชูมณี  องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย, 093 442 8289, wchumanee@unicef.org

/home/www/ch7/htdocs/files/images/src/2020/04/18/90UNICEF_mental_health_infographic_01.jpg
" 408202,"ชเว ชีวอน ทูตสันถวไมตรีองค์การยูนิเซฟ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปฟิซิก ขอส่งความห่วงใย กำลังใจ และคำแนะนำแก่ทุกคนในช่วง โควิด-19 (Covid-19)

ด้วยสถานการณ์ขณะนี้ที่พวกเราและคนทั้งโลกต้องเผชิญกับการต่อสู้กับโรคระบาด หลายคนสามารถปรับตัวได้แล้ว และเริ่มแบ่งปันความช่วยเหลือไปให้ผู้อื่น แต่หลายคนยังคงพยายามปรับตัวในการดำเนินชีวิตประจำวันให้เป็นไปอย่างราบรื่น และปลอดภัย

ชเว ชีวอน ทูตสันถวไมตรีองค์การยูนิเซฟ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปฟิซิก เป็นหนึ่งคนที่รับรู้ถึงความยากลำบากของทุกคน จึงได้ส่งความห่วงใย กำลังใจ รวมทั้งข้อแนะนำในการดำเนินชีวิตให้แก่ทุกคนผ่านยูนิเซฟในคลิปวีดีโอนี้


นอกจากนี้ ยูนิเซฟได้ประกาศระดมเงินบริจาคประมาณ 21,000 ล้านบาทจากทั่วโลกเพื่อช่วยเหลือเด็กและครอบครัวที่กำลังเดือดร้อนจากวิกฤต โควิด-19 (Covid-19) ร่วมบริจาคผ่านยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้ที่ : http://www.unicef.or.th/th/covid19

/home/www/ch7/htdocs/files/images/src/2020/04/21/774-21-2020_1-57-59_PM.jpg

 
" 408739,"องค์การยูนิเซฟเตรียมส่งมอบน้ำยาตรวจ โควิด-19 มูลค่า 5 ล้านบาทแก่สถาบันบำราศนราดูร สังกัดกรมควบคุมโรค เพื่อช่วยสนับสนุนประเทศไทยในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งสถาบันบำราศราดูรสามารถใช้น้ำยาตรวจโควิด-19 สำหรับเครื่องอัตโนมัติ ช่วยตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมา โดยเครื่องตรวจระบบอัตโนมัติของทางสถาบันฯ สามารถรองรับการตรวจได้มากถึง 1,440 ตัวอย่างภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่าการตรวจแบบธรรมดามาก

/home/www/ch7/htdocs/files/images/src/2020/04/23/27UNICEF_reagent_to_BIDI_photo_02.jpg

นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “การตรวจหาเชื้อที่รวดเร็วและแม่นยำเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยให้เราเข้าใจอัตราการแพร่ระบาดได้ดีขึ้น ยูนิเซฟพร้อมสนับสนุนรัฐบาลไทยในการเพิ่มกำลังการตรวจหาเชื้อและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19  และพร้อมดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านสุขภาพและเศรษฐกิจสังคมที่เด็ก ๆ และครอบครัวกำลังต้องเผชิญอยู่”

นอกจากการจัดหาและส่งมอบชุดตรวจ โควิด-19 แล้ว ยูนิเซฟยังได้ร่วมมือกับรัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคธุรกิจและหน่วยงานสหประชาชาติอื่น ๆ ในการต่อสู้กับ โควิด-19 ในด้านต่าง ๆ เช่น

- ร่วมมือกับกลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย จัดส่งสบู่และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือกว่า 150,000 ชิ้นให้แก่เด็กและเยาวชนที่เปราะบางทั่วประเทศ
- เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องในการป้องกันตนเองและการดูแลจิตใจตนเองแก่เด็กและครอบครัวผ่านสื่อต่าง ๆ
- สนับสนุนและเผยแพร่ข้อมูลด้านสุขภาพและสุขอนามัยแก่ชุมชนแรงงานข้ามชาติใน 18 จังหวัด
- สำรวจและวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชน รวมถึงกลุ่มที่เปราะบางที่สุด
- จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองทางสังคมแก่กลุ่มประชากรที่เปราะบางที่สุด
- จัดซื้อเครื่องมือวัดอุณหภูมิแบบอินฟาเรดแก่โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและจัดทำแนวทางปฏิบัติสำหรับโรงเรียนเพื่อป้องกันโควิด-19 เพื่อเตรียมการเปิดภาคเรียนในไม่กี่เดือนข้างหน้า

นายดาวินกล่าวเสริมว่า “วิกฤตครั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรต่าง ๆ ภาคธุรกิจ  อินฟลูเอนเซอร์ สื่อมวลชน รวมถึงพวกเราทุกคนที่จะมาช่วยกันสนับสนุนทรัพยากร ความรู้และทักษะ ความเป็นหนึ่งเดียวกันเท่านั้นที่จะทำให้เราฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ไปได้”

/home/www/ch7/htdocs/files/images/src/2020/04/23/18UNICEF_reagent_to_BIDI_photo_01.jpg

ยูนิเซฟได้ประกาศระดมเงินบริจาคเป็นจำนวน 651.6 ล้านเหรียญ (21,000 ล้านบาท) จากทั่วโลกเพื่อช่วยเหลือเด็กและครอบครัวที่กำลังเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด-19 โดยท่านสามารถร่วมบริจาคผ่านองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้ที่

ออนไลน์: http://www.unicef.or.th/th/covid19

โอนผ่านบัญชีธนาคาร: ธนาคารกรุงเทพ หมายเลขบัญชี 201-3-01324-4
กรุณาส่งข้อมูลติดต่อ (ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์) พร้อมใบสลิปมาที่ยูนิเซฟ โดยระบุ “โควิด-19” มาที่ unicefthailand@unicef.org

ท่านสามารถร่วมโครงการอาสาสมัครกับยูนิเซฟเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทาง
>> https://www.unicef.org/thailand/i-am-unicef

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่:
ณัฐฐา กีนะพันธ์, องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย, 086 616 7555, nkeenapan@unicef.org 
วรวุฒิ ชูมณี  องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย, 093 442 8289, wchumanee@unicef.org" 410533,"กรุงเทพฯ 28 เมษายน 2563 -  เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม และองค์การ เฟรนด์ ประเทศไทย ลงพื้นที่ชุมชนในกรุงเทพฯ เช่น ชุมชนคลองเตย และชุมชนโรงหวาย เพื่อมอบสิ่งของจำเป็น รวมถึง สบู่และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือให้แก่เด็กและครอบครัวที่ขาดแคลน พร้อมให้คำแนะนำในการป้องกันตนเองและการดูแลจิตใจในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

นอกจากชุมชนต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ แล้ว ยูนิเซฟได้ร่วมมือกับกลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย แจกจ่ายสบู่และเจลแอลกอฮอล์กว่า 150,000 ชิ้น แก่เด็กเยาวชนที่เปราะบางทั่วประเทศ รวมถึงเด็กที่อาศัยอยู่ตามท้องถนน เด็กในบ้านพักเด็กและครอบครัว สถานพัฒนาและคุ้มครองคนพิการ สถานสงเคราะห์ฯ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพฯ และสถานพัฒนาและฟื้นฟูฯ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน

นอกจากนี้ ยูนิเซฟ มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมและองค์กรเครือข่ายทำงานด้านเด็กเล็ก กำลังผลักดันให้รัฐบาลเพิ่มจำนวนเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด และขยายเป็นแบบถ้วนหน้า เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กและครอบครัวที่กำลังเดือดร้อนสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือที่จำเป็นได้โดยไม่มีใครตกหล่น

/home/www/ch7/htdocs/files/images/src/2020/05/02/1Unicef-252020-1.jpg

/home/www/ch7/htdocs/files/images/src/2020/05/02/74Unicef-252020-2.jpg
เจ้าหน้าที่ยูนิเซฟมอบสบู่และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือพร้อมสอนขั้นตอนการล้างมือแก่เด็กและครอบครัวในชุมชนคลองเตยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

/home/www/ch7/htdocs/files/images/src/2020/05/02/74Unicef-252020-3.jpg
การแจกสบู่และเจลแอลกอฮอล์มีส่วนช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของครอบครัวที่ขาดแคลน
และเป็นโอกาสในการสร้างความเข้าใจเรื่องสุขอนามัยในชุมชน
หลายครอบครัวบอกว่า สบู่ที่มีอยู่กำลังจะหมดพอดี ในขณะที่บางครอบครัวบอกว่า
พวกเขาไม่เคยได้รับเจลทำความสะอาดมาก่อน และไม่รู้ว่าต้องใช้อย่างไร


/home/www/ch7/htdocs/files/images/src/2020/05/02/74Unicef-252020-4.jpg
เจ้าหน้าที่องค์การเฟรนด์ ประเทศไทย แจกเอกสารแนะนำวิธีการดูแลจิตใจในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
ณ ชุมชนโรงหวาย เขตสวนหลวง กทม. ผลสำรวจของยูนิเซฟเมื่อเร็วๆ นี้พบว่าเด็กและเยาวชน 8 ใน 10 คน
รู้สึกเครียดและกังวลเรื่องรายได้ของครอบครัวซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19


/home/www/ch7/htdocs/files/images/src/2020/05/02/53Unicef-252020-5.jpg

/home/www/ch7/htdocs/files/images/src/2020/05/02/53Unicef-252020-6.jpg
นอกจากการมอบสิ่งของจำเป็นแล้ว ยูนิเซฟ มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมและองค์กรเครือข่ายทำงานด้านเด็กเล็ก
กำลังผลักดันให้รัฐบาลเพิ่มจำนวนเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด และขยายเป็นแบบถ้วนหน้า
เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กและครอบครัวที่กำลังเดือดร้อนสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือที่จำเป็นได้โดยไม่มีใครตกหล่น

 

เครดิตภาพ: ยูนิเซฟ/2020/สุขุม ปรีชาพานิช

ข้อมูลเพิ่มเติม
ยูนิเซฟได้ประกาศระดมเงินบริจาคเป็นจำนวน 651.6 ล้านเหรียญ (21,000 ล้านบาท) จากทั่วโลกเพื่อช่วยเหลือเด็กและครอบครัวที่กำลังเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด-19 โดยท่านสามารถร่วมบริจาคผ่านองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้ที่ ออนไลน์: http://www.unicef.or.th/th/covid19 หรือ
โอนผ่านบัญชีธนาคาร: ธนาคารกรุงเทพ หมายเลขบัญชี 201-3-01324-4
กรุณาส่งข้อมูลติดต่อ (ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์) พร้อมใบสลิปมาที่ยูนิเซฟ โดยระบุ “โควิด-19” มาที่ unicefthailand@unicef.org

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ณัฐฐา กีนะพันธ์ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย 086 616 7555 หรือ nkeenapan@unicef.org
วรวุฒิ ชูมณี องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย 093 442 8289 หรือ wchumanee@unicef.org" 418035,"สหรัฐอเมริกา โดยองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา หรือ ยูเอสเอด (USAID) และ องค์การยูนิเซฟ ประสานความร่วมมือในการต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และบรรเทาผลกระทบในกลุ่มประชากรที่เปราะบางที่สุดในประเทศไทย เช่น กลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มประชากรไร้สัญชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์

โดยยูเอสเอดได้มอบเงินสนับสนุนจำนวน 700,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 22.3  ล้านบาท) ให้แก่ยูนิเซฟ เพื่อใช้ดำเนินงานในด้านต่าง ๆ เพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชากรกลุ่มเปราะบางที่สุดในประเทศไทย เช่น กลุ่มรายได้น้อย แรงงานข้ามชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งมักมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการทางสาธารณสุขที่จำเป็น

นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “กลุ่มแรงงานข้ามชาติ และประชากรกลุ่มเปราะบางล้วนเผชิญกับอุปสรรคมากมายในชีวิตมาตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาด เนื่องจากสถานภาพทางสังคม ข้อจำกัดทางภาษา หรือการถูกตีตราและแบ่งแยกในสังคม การรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ เราจะต้องไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ จุดมุ่งหมายสำคัญที่สุดคือการปกป้องสังคมโดยรวม ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องรับผิดชอบร่วมกันเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุด โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติหรือสถานะ และให้มั่นใจได้ว่าพวกเขาจะมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย และสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ที่จำเป็นได้ เงินสนับสนุนจากยูเอสเอดจะช่วยให้ยูนิเซฟเข้าถึงเด็กและครอบครัวที่กำลังต้องการความช่วยเหลือที่สุดได้มากขึ้น โดยไม่มีใครต้องตกหล่น”

นายปีเตอร์ เอ. มัลนัค ผู้อำนวยการยูเอสเอด สำนักงานภาคพื้นเอเชีย กล่าวว่า “ยิ่งไปกว่าผลกระทบด้านสุขภาพ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กำลังคุกคามชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนต่าง ๆ ในสังคมทั่วภูมิภาคเอเชีย โดยประชากรกลุ่มเปราะบางที่สุดจะเป็นผู้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งในด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชนที่ต้องหยุดชะงัก ทั้งนี้ ยูเอสเอดพร้อมร่วมมือกับยูนิเซฟและรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีต่อชุมชนที่เปราะบางที่สุดทั่วประเทศไทย การร่วมมืออย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จะช่วยให้เราสร้างวิถีใหม่ในการฟื้นคืนสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในไม่กี่เดือนข้างหน้าต่อจากนี้” 


ภายใต้ความร่วมมือนี้ ยูนิเซฟได้ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) องค์กรภาคประชาสังคม หน่วยงานต่าง ๆ ของสหประชาชาติและรัฐบาลไทย เพื่อประสานความช่วยเหลือให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  และเพื่อให้มั่นใจได้ว่าเด็ก ๆ และครอบครัวในชุมชนแรงงานข้ามชาติ หรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ จะได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมและทันท่วงที

ภายใต้ความร่วมมือนี้ ยูนิเซฟได้ดำเนินงานร่วมกับองค์กรพันธมิตร เช่น มูลนิธิรักษ์ไทย และมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่จัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านสุขภาพและแนวปฏิบัติด้านสุขอนามัยแก่ประชากรข้ามชาติและกลุ่มชาติพันธุ์ราว 120,000 คนใน 22 จังหวัดทั่วประเทศไทย พร้อมชุดข้อมูลในภาษาพม่า ภาษาเขมร และภาษาลาว ตลอดจนให้คำแนะนำด้านวิธีดูแลสุขภาพจิตและการดำเนินชีวิตแก่พ่อแม่และผู้ปกครองในชุมชนเหล่านี้

นอกจากนี้ ยูนิเซฟและองค์กรพันธมิตรยังได้จัดอบรมเยาวชนข้ามชาติให้สามารถเป็นแกนนำสนับสนุนการป้องกันโรคโควิด-19 และป้องกันการตีตราแบ่งแยกในชุมชนข้ามชาติ พร้อมจัดตั้งกองทุนฉุกเฉินเพื่อช่วยให้เยาวชนเหล่านี้สามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะได้อย่างต่อเนื่อง

นอกเหนือจากโครงการต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นประชากรข้ามชาติแล้ว เงินสนับสนุนจากยูเอสเอดจะช่วยให้ยูนิเซฟและรัฐบาลไทย ดำเนินงานเพื่อบรรเทาผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ที่มีต่อเด็กและครอบครัวทั่วประเทศ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผ่านการพัฒนาบริการด้านสาธารณสุขและการศึกษา อาทิ การจัดส่งเครื่องมือวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดให้ศูนย์ต่าง ๆ กว่า 3,000 แห่ง เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สถานสงเคราะห์เด็ก และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ 

นอกจากนี้ ยูเอสเอดยังได้สนับสนุนยูนิเซฟในการพัฒนาช่องทางการให้บริการต่าง ๆ เช่น สายด่วนบริการสังคมและสุขภาพจิต ให้สามารถรองรับความต้องการของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการปรับปรุงระบบคุ้มครองเด็กในชุมชน ทั้งในด้านการเฝ้าระวังสถานการณ์ การรายงาน และส่งต่อเมื่อเกิดเหตุรุนแรงต่อเด็ก การล่วงละเมิด การถูกทอดทิ้ง และการแสวงประโยชน์จากเด็ก ซึ่งอาจมีแนวโน้มสูงขึ้นอันเป็นผลมาจากมาตรการล็อคดาวน์ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

/home/www/ch7/htdocs/files/images/src/2020/06/09/2102.jpg

/home/www/ch7/htdocs/files/images/src/2020/06/09/5003.jpg

/home/www/ch7/htdocs/files/images/src/2020/06/09/5004.JPG
 
/home/www/ch7/htdocs/files/images/src/2020/06/09/5005.JPG

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่:
องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
ณัฐฐา กีนะพันธ์ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย 086 616 7555 หรือ nkeenapan@unicef.org
วรวุฒิ ชูมณี องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย 093 442 8289 หรือ wchumanee@unicef.org